สิว มีกี่ประเภท?
สิวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1.สิวชนิดไม่อักเสบ
คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เรียกว่า โคมีโดน (comedone) หรือเรียกอีกอย่างว่า สิวอุดตัน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของหัวสิว ได้แก่
1.1 สิวหัวปิด หรือ สิวหัวขาว (Whiteheads)
เป็นสิวอุดตันที่ไม่มีรูเปิดออกสู่ภายนอก เป็นตุ่มนูนขนาดเล็กอยู่ใต้ผิวหนัง เกิดจากการอุดตันสะสมของน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วในต่อมไขมันและรูขุมขน เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน จะกลายเป็นสิวอักเสบ
1.2 สิวหัวเปิด หรือ สิวหัวดำ (Blackheads)
เป็นสิวอุดตันแบบเปิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีดำเล็กๆ มักจะพบบริเวณทีโซน คือ หน้าผาก จมูก และคาง สีดำของหัวสิวไม่ได้เกิดจากสิ่งสกปรก แต่เกิดจากรูขุมขนอุดตันเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และน้ำมันที่อยู่บนผิวหน้าของเราทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ จึงทำให้หัวสิวกลายเป็นสีดำนั่นเอง
2.สิวชนิดอักเสบ
คือ สิวที่มีการอุดตันของรูขุมขน และพบลักษณะของการอักเสบร่วมด้วย โดยมากมักเกิดตามหลังสิวหัวปิดที่ไม่ได้รับการรักษา ร่วมกับมีการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณรูขุมขน แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามลักษณะของสิวที่พบ ได้แก่
2.1 สิวที่มีตุ่มนูนแดง (Papule)
เป็นสิวที่มีลักษณะตุ่มนูน สีแดง ขนาดเล็ก
2.2 สิวหัวหนอง (Pustule)
สิวจะมีลักษณะที่เป็นตุ่มหนอง ซึ่งแบ่งเป็น ชนิดตื้น และชนิดลึก
2.3 สิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodule)
สิวมีลักษณะเป็นก้อนสีแดงที่ขนาดใหญ่ขึ้น โดยอาจพบเป็นหลายหัวสิวที่อยู่ติดกัน
2.4 สิวหัวช้าง (Cyst)
เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง มีลักษณะก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ มีความนุ่ม (ภายในอาจมีหนองปนเลือด)
รู้หรือไม่?
สิวเสี้ยน
ไม่ใช่สิวอย่างที่คิด! มันคือ sebaceous filament เป็นเส้นใยไขมันที่เกาะอยู่ตามท่อของรูขุมขน ไม่ใช่สิวอย่างที่เข้าใจ และก็ไม่ใช่โรคด้วย แต่เป็นไขมันปกติที่เกิดขึ้นได้ในบริเวณผิวที่มีความมันมาก ไม่ใช่ขึ้นได้แค่ที่จมูก แต่ขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีความมันมากเป็นพิเศษ ความแตกต่างระหว่างสิวหัวดำกับ sebaceous filament คือ ถ้าเป็นสิวหัวดำ จะเกิดจากรูขุมขนที่มีไขมันรวมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตัน และหัวสิวเปิดไปสัมผัสกับอากาศทำให้หัวสิวมีสีดำ มีหัวสิวที่ใหญ่กว่า sebaceous filament และถ้าเราลองบีบ จะเป็นก้อนหัวสิวหลุดออกมา แต่ถ้าเป็น sebaceous filament หรือที่เราเรียกกันว่าสิวเสี้ยน จะเป็นเส้นไขมันยาวๆ แทน
สิวผด สิวเทียม หรือสิวหิน (Acne Aestivale)
- แสงแดด และสภาวะอากาศที่ร้อนและอับชื้น เพราะแสงแดดและความร้อนส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานหนัก และต่อมเหงื่ออุดตัน จนทำให้เกิดเป็นตุ่มเล็กๆ เหมือนเป็นผด และด้วยเหตุนี้นี่เอง สิวผดจึงมักหายตัวไปในช่วงเช้าที่มีอากาศเย็น และกลับมาเห่ออีกครั้งในช่วงบ่ายๆที่อากาศร้อน
- เกิดจากการที่รูขุมขนอักเสบจากเชื้อราประเภทยีสต์ (Malassezia folliculitis หรือเดิมเรียกว่า Pityrosporum folliculitis) โดยทั่วไป เชื้อนี้สามารถพบได้เป็นปกติบนผิวหนังของทุกคน แต่หากต่อมไขมันทำงานมากผิดปกติ จะทำให้มีน้ำมันส่วนเกินที่กลายเป็นอาหารของยีสต์ชนิดนี้ ทำให้เชื้อเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดสิวผดได้
- เกิดจากอาการแพ้ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น แพ้เหงื่อ แพ้น้ำ แพ้ฝุ่น แพ้อากาศร้อนหรือเย็นจัด
- เกิดจากการระคายเคืองบนผิวหนัง เช่น การแพ้สารเคมีในเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น โฟมล้างหน้า แชมพู ครีมนวด
- เกิดจากมลภาวะต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและทางอากาศ
เอกสารอ้างอิง
-โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (2562). สิว…แค่เรื่องสิวๆ. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2563, จาก https://www.bumrungrad.com/…/november-2019/know-about-acne
-Aesthetic Zecret. (2562). สิวมี่กี่ชนิด รู้แล้วสำคัญอย่างไร? สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2563, จาก https://www.at-z.co.th/content/14387/สิวมี่กี่ชนิด-รู้แล้วสำคัญอย่างไร-
-Puttharaksa Aesthetic. (2563). 7 วิธีรักษาสิวผด — แก้สิวผดที่ต้นเหตุ. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2563, จาก https://www.puttharaksa.com/knowledge/สิว/วิธีรักษาสิวผด.html
-ID SKIN EXPERT. (2563). สิวเสี้ยนบนจมูกอาจไม่ใช่สิวอย่างที่เข้าใจ. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2563, จาก https://www.idskinexpert.com/knowledge/สิวเสี้ยนบนจมูกอาจไม่ใ/