กลิ่นตัวคืออะไรและวิธีการป้องกัน
เรื่องของ “กลิ่นตัว”
ผิวหนังของมนุษย์ประกอบไปด้วยต่อมเหงื่อ (Sweat glands) ที่สำคัญหลักๆ 2 ต่อมคือต่อมเอกไครน์ และ ต่อมอะโพไครน์ ซึ่งแต่ละต่อมมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป
1. ต่อมเอกไครน์ (Eccrine Sweat Gland)
เป็นต่อมที่อยู่บนผิวหนังโดยทั่ว มีรูเปิดโดยตรงที่ผิวหนัง มีหน้าที่ผลิตเหงื่อเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเพื่อคลายความร้อนในร่างกาย
ในเหงื่อจะมีน้ำและเกลือเป็นส่วนประกอบหลัก และจะระเหยเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเย็นลง
2. ต่อมอะโพไครน์ (Apocrine Sweat Gland)
เป็นต่อมที่อยู่ในบริเวณที่มีขนขึ้นมาก เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบ หนังศีรษะ
โดยรูเปิดของต่อมจะผ่านทางรูขุมขน สารที่หลั่งจากต่อมนี้ประกอบด้วยกรดไขมันหลายชนิด มีลักษณะเหลวข้นคล้ายน้ำนม ไม่มีกลิ่น ออกมาเมื่อเกิดความเครียด
เมื่อหลั่งออกมาด้านนอกของผิวหนัง สารดังกล่าวจะถูกเชื้อแบคทีเรียเปลี่ยนให้เป็นสารที่มีกลิ่นซึ่งคือแอมโมเนียและกรดไขมันสายสั้น
กลิ่นตัวจะมาจากต่อมอะโพไครน์ ต่างกับเหงื่อที่มาจากต่อมเอกไครน์ ดังนั้นกลิ่นตัวอาจมาร่วมกับภาวะเหงื่อออกมากหรือไม่ก็ได้
กลิ่นตัวต่างจากกลิ่นเหงื่อ โดยปกติเหงื่อที่หลั่งมาจากต่อมเหงื่อ (Eccrine Sweat Gland) จะไม่มีกลิ่น บางภาวะอาจทำให้เหงื่อมีกลิ่นได้ เช่น รับประทานกระเทียม แกง หรือยาบางชนิด
เหงื่อถูกขับออกจากร่างกายเพื่อลดอุณหภูมิและระบายความร้อนในตัวเรา นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเมื่อเราออกกำลังกายแล้วเหงื่อออกมาเยอะแต่กลับไม่มีกลิ่นเหม็นอะไร เพราะเหงื่อมาจากต่อมเอกไครน์ซึ่งไม่ได้มีกลิ่น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว
– ความเครียด
– เพศชายในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น
– น้ำหนักตัวเกิน
– ทานอาหารที่มีกลิ่นแรงหรืออาหารที่มีรสเผ็ด
– ดื่มแอลกอฮอล์
วิธีการป้องกันและกำจัดกลิ่นตัว
1. รักษาความสะอาดของร่างกายเป็นประจำ
โดยการอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และ เน้นถูสบู่ในบริเวณที่เกิดกลิ่นได้ง่าย เช่น รักแร้ ข้อพับ มือและเท้า เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก ทำความสะอาด และกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง
หลังอาบน้ำควรเช็ดตัวให้แห้ง เพราะแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีความเปียกชื้น
2. เล็มหรือโกนขนบริเวณรักแร้
เพื่อป้องกันแบคทีเรียและการสะสมของสารก่อกลิ่น
3. ใช้สบู่ฆ่าเชื้อ
เพื่อกำจัดแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นตัว
4. ใช้สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant)
สารระงับเหงื่อที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) จะไปอุดท่อต่อมเหงื่อ ลดการหลั่งเหงื่อ
ทำให้ผิวหนังแห้งและแบคทีเรียที่ก่อกลิ่นตัวเติบโตไม่ดี โดยทาที่รักแร้เป็นประจำทุกคืนในช่วงก่อนเข้านอนแล้วล้างออกในตอนเช้า
หากปริมาณเหงื่อลดลงอาจปรับการใช้งานเป็นวันเว้นวัน หรือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
5. ใช้ยาดับกลิ่นตัว (Deodorant)
จะมีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น สารลดเหงื่อ สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารลดกลิ่นที่สร้างขึ้น และน้ำหอมจะช่วยปกปิดกลิ่นตัวได้
6. สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด
ทำความสะอาดเสื้อผ้าเป็นประจำ ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำโดยไม่ซัก เปลี่ยนชุดหลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก
รวมถึงเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หรือผ้าไหม จะช่วยระบายอากาศและทำให้เหงื่อระเหยได้ไวขึ้น
7. ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร
โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน หรืออาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม ผงกระหรี่ หรือเนื้อแดง จะสามารถซึมออกมาทางรูขุมขน ทำให้เหงื่อมีกลิ่น และเกิดกลิ่นตัวได้
8. ลดความเครียด
ความเครียดเป็นอีกสาเหตุที่จะยิ่งทำให้กลิ่นตัวเราแรงขึ้นได้ เนื่องจากต่อมอะโพไครน์จะผลิตสารมากขึ้น ฉะนั้นเราจึงควรลดความเครียดและมีการแบ่งเวลาพักผ่อนให้จิตใจได้สดชื่นผ่อนคลายบ้าง
9. ปรึกษาแพทย์
หากพบว่ามีเหงื่อหรือกลิ่นตัวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือพบว่ามีเหงื่อออกมากผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย หรือ เป็นผลมาจากการใช้ยาบางชนิดก็ได้
ควรได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป การรักษาอื่นๆ มีตั้งแต่การฉีดโบท๊อก ถึงการผ่าตัดเอาต่อมกลิ่นออก เป็นต้น
สบู่สมุนไพร โยโล่ บาย ดร.มนตรี สูตรเปปเปอร์มินท์ทีทรีออยล์ กำจัดเชื้อแบคทีเรียด้วยสารธรรมชาติ
ที่มา
https://www.pobpad.com
https://www.si.mahidol.ac.th
https://hd.co.th
https://www.mayoclinic.org
แชร์บทความนี้