กระเกิดจากอะไร รักษายังไง หายไหม ?
กระ (Freckles) เกิดจากอะไร?
กระ เกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีมากขึ้นผิดปกติเมื่อถูกแสงแดด
กระ มีลักษณะอย่างไร?
ลักษณะจะเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาล พบได้มากบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก รวมทั้งแขน คอ และหน้าอก
กระ ถ้าแบ่งตามที่ทุกคนมักได้ยิน จะมีทั้งหมด 3 ชนิด
1. กระตื้น
จะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล มักเป็นบริเวณใบหน้าหรือส่วนที่โดนแสงบ่อย ๆ มักเกิดในคนที่มีผิวขาว โดยเฉพาะชาวตะวันตก
กระตื้นยังแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
1.1 Ephelides (Freckles)
มักพบในเด็กและวัยรุ่น สาเหตุหลักจากกรรมพันธุ์ กระนี้จะมีสีเข้มขึ้นและเห็นชัดเจนถ้าไปโดนแดด และจะจางลงเมื่อไม่โดนแดด กระชนิดนี้จะค่อย ๆ จางไปเองเมื่ออายุมากขึ้น มักมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร
1.2 กระแดด (Solar Lentigo)
มักพบในคนอายุมากหรือคนที่ทำงานอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ลักษณะเป็นจุดหรือปื้นเรียบ ๆ สีน้ำตาลหรือสีดำขนาดเล็ก ขอบชัด ไม่จางหรือหายไปเอง
2. กระลึก หรือปานโฮริ (Nevus of Hori)
มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มออกเทาดำ ขอบเขตไม่ชัดเจน มักอยู่กันเป็นกลุ่มที่โหนกแก้ม และขมับทั้ง 2 ข้าง พบบ่อยในผู้หญิงชาวเอเชีย ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน เป็นอาการที่เกิดได้เองตามธรรมชาติ และค่อย ๆ แสดงอาการชัดเจนขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่ สามารถพบได้ตั้งแต่เกิด หรือพบตอนเป็นผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากจะพบตอนย่างเข้าสู่วัยรุ่น พบว่าพันธุกรรมและฮอร์โมนมีส่วนเกี่ยวข้อง
3. กระเนื้อ (Seborrheic Keratosis)
กระเนื้อ เป็นผลจากการเจริญผิดปกติของผิวหนังส่วนบน ลักษณะเป็นตุ่มแบน ผิวอาจดูขรุขระเล็กน้อย มีสีแตกต่างกันได้ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนกระทั่งสีดำ มีขนาดตั้งแต่เป็นจุดเล็ก จนกระทั่งใหญ่เป็นเซนติเมตรก็ได้
ตุ่มมีลักษณะพิเศษ คือ ดูคล้ายตุ่มนั้นแปะบนผิวหนัง แทบทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น จะพบกระเนื้อมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งเข้าสู่วัยชราก็จะพบได้บ่อย ขนาดใหญ่ และมีจำนวนมาก
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระเนื้อได้แก่ ผิวหนังที่ได้รับแสงแดดเป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน พันธุกรรม บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นกระเนื้อมักเกิดกระเนื้อสูงกว่าคนทั่วไป และอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดกระเนื้อได้มากตามวัย
การรักษากระชนิดต่าง ๆ
การรักษากระตื้นทำได้โดย
1. การทายา เช่น AHA, TCA, กรดโคจิก (Kojic Acid) เป็นต้น
2. การใช้น้ำยากรดเข้มข้นแต้มบริเวณที่ตกกระ ทำให้เป็นสะเก็ดแล้วหลุดลอกออก ต้องอาศัยความชำนาญจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลเป็น
3. การทำ Treatment ต่าง ๆ ที่ใช้การส่งผ่านตัวยาลงไปในผิวหนังได้ลึกกว่าปกติ ซึ่งทำให้กระจางลง
4. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ที่มีผลต่อเม็ดสี (Pigmented Laser) ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง
การป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ควรเริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงแสงแดด พร้อมกับทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันผิวจากรังสียูวี
การรักษากระลึก หรือปานโฮริ
ในบรรดากระทั้งหมด กระลึกค่อนข้างรักษาหายยากที่สุด เนื่องจากเม็ดสีอยู่ลึก การใช้ครีมหรือยาทาอาจช่วยได้บ้าง แต่ไม่หาย วิธีรักษากระลึกที่ได้ผลดีที่สุดคือ การรักษาด้วยเลเซอร์ แต่ต้องทำการรักษาหลายครั้ง
การรักษากระเนื้อ
1. จี้ไฟฟ้า ก่อนจี้จะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดหรือทาบริเวณรอยโรค แล้วจี้บริเวณรอยโรคด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หลังจากนั้นขูดเนื้อเยื่อบริเวณที่จี้ออก วิธีนี้จะมีแผลตื้น ๆ บริเวณที่ขูดซึ่งจะหายภายใน 1 สัปดาห์
2. จี้ด้วยสารเคมี เช่น กรดไตรคลออะซิติค วิธีนี้ไม่ต้องใช้ยาชา แต่จะมีอาการแสบบ้างบริเวณตำแหน่งที่จี้ การจี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตายและหลุดออก ข้อเสีย คือ ถ้ากระเนื้อหนามากอาจหลุดไม่หมด หรือต้องจี้หลายครั้ง
3. จี้ด้วยไนโตรเจนเหลว วิธีนี้จะทำให้เกิดตุ่มน้ำพองขึ้นใต้รอยโรค ซึ่งต่อไปจะแห้งเป็นสะเก็ดแล้วหลุดไปใน 2-3 สัปดาห์ ข้อเสียคือบางครั้งอาจเกิดรอยดำหรือขาวหรือแผลเป็นบริเวณรอยโรค สำหรับรอยดำหรือขาวที่เกิดจะจางไปได้ตามกาลเวลา
4. การทำเลเซอร์ โดยแปะหรือฉีดยาชาแล้วใช้เลเซอร์ยิงกระเนื้อบริเวณจุดนั้น ๆ
สรุป
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวออกมามากมาย และมีเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อรักษากระที่ทันสมัย แต่การรักษาต้องใช้เวลานานและบางวิธีมีค่าใช้จ่ายสูง สิ่งสำคัญที่สุดที่เราสามารถทำได้คือ ป้องกันการเกิดกระเท่าที่ทำได้ โดยเริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงแสงแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ และหากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะช่วงเวลากลางวัน ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงหรือกระโปรงยาว และหมวกปีกกว้าง
เอกสารอ้างอิง
https://www.vibhavadi.com
https://th.yanhee.net
https://www.si.mahidol.ac.th
https://www.bumrungrad.com
https://www.siphhospital.com
https://romrawin.com
https://www.webmd.com
https://www.healthline.com
https://th.wikipedia.org
https://www.pobpad.com/กระเนื้อ
https://www.pobpad.com/กระ-รักษาหาย-ป้องกันได้